ระเบียบคณะกรรมการสภาสถาปนิกว่าด้วย ขอบเขตและขั้นตอนงานบริการวิชาชีพสาขาสถาปัตยกรรมภายใน และมัณฑนศิลป์


1. บทนำ                ขอบเขตการปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์ มุ่งเน้นกระบวนการสร้างสรรค์ องค์ประกอบทางกายภาพ สภาพแวดล้อมภายในอาคาร และการใช้พื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ ตามข้อกำหนดการปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม
2. หลักการปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมภายใน และมัณฑนศิลป์
                                การปฏิบัติวิชาชีพสถาปัตยกรรมภายใน และมัณฑนศิลป์ ต้องเป็นการใช้ศาสตร์และศิลป์ในการสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรม ที่เหมาะสม ทางกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม ประเพณี วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี โดยมีหลักสำคัญ ดังนี้
                                - ให้ความสำคัญต่อการใช้ประโยชน์ของพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสม
                                - ให้ความสำคัญทางกายภาพ อันเป็นส่วนหนึ่งของสภาพแวดล้อมรอบตัวมนุษย์ซึ่งมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิต และสาธารณะชนทั่วไป
                                - ให้ความสำคัญ ทางด้านความรู้สึก อารมณ์ ผลกระทบทางด้านจิตใจ สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม และความต้องการเพื่อประโยชน์เฉพาะอย่าง ตลอดจนการเปลี่ยนแปลง
                                - แสดงออกซึ่งความคิดสร้างสรรค์ จากนามธรรมสู่รูปธรรม ผ่านสื่อที่เข้าใจได้เป็นสากล
                                - ปฏิบัติวิชาชีพให้ถูกต้องตามระเบียบปฏิบัติ และข้อกำหนดของกฏหมายที่เกี่ยวข้อง

3. การบริหารจัดการขั้นพื้นฐานในการปฏิบัติวิชาชีพ
                                ในกระบวนการสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมภายใน และมัณฑนศิลป์ สถาปนิกต้องอาศัยข้อมูล ความรู้ที่หลากหลาย และต้องทำงานร่วมกับบุคคลจำนวนมาก ดังนั้นในการปฏิบัติวิชาชีพ สถาปนิกจำเป็นต้องบริหารจัดการข้อมูลและบุคลากร สามารถประสานงานกับกลุ่มบุคคลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เจ้าของโครงการ ที่ปรึกษา สถาปนิกสาขาอื่น วิศวกร และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านต่างๆ เพื่อให้งานสามารถดำเนินไปอย่างราบรื่น และสัมฤทธิผล

4. ขอบเขตงานบริการวิชาชีพ
                                ขอบเขตและขั้นตอน งานบริการวิชาชีพ สาขาสถาปัตยกรรมภายใน และมัณฑนศิลป์ ประกอบด้วย
                                4.1 งานศึกษาโครงการ
                                4.2  งานออกแบบ
                                4.3  งานบริหารโครงการ และอำนวยการ
                                4.4  งานตรวจสอบ
                                4.5  งานให้คำปรึกษา
                                4.6  งานบริการเสริม

4.1 งานศึกษาโครงการ หมายถึง การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล การจัดทำข้อกำหนด วัตถุประสงค์ เงื่อนไขและความต้องการ การศึกษาในรายละเอียดของโครงการ ศึกษาความเป็นไปได้กฏหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ศึกษาการใช้ประโยชน์ของพื้นที่สภาพแวดล้อมภายในอาคารและงบประมาณ ตลอดจนการศึกษาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสถาปนิกสามารถให้บริการ ทั้งจัดหาผู้ให้บริการในสาขาวิชาชีพอื่นๆ มาร่วมโครงการ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความจำเป็น ซึ่งอาจจำแนกการศึกษาในรายละเอียด เกี่ยวกับโครงการ ได้แก่
                                - การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล
                                - การจัดทำข้อกำหนด วัตถุประสงค์ เงื่อนไข และความต้องการ
                                - การศึกษาการใช้ประโยชน์ของพื้นที่และสภาพแวดล้อมภายในอาคาร
                                - การศึกษากฏหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
                                - การศึกษาและจัดทำงบประมาณ
                                - การศึกษาด้านวัสดุ อุปกรณ์
                                - การศึกษาในด้านพฤติกรรมและจิตวิทยา
                                - การศึกษาในความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม
                                - การแสดงแนวคิด
             4.1.1       ขอบเขตของงานศึกษาโครงการ
                                1) การรวบรวมข้อมูล อย่างละเอียด สามารถกำหนดขนาดของพื้นที่ใช้สอย (โครงการ)
                                2) การวิเคราะห์ข้อมูล เป็นผลในเชิงปริมาณและงบประมาณ
                                3) การกำหนดรูปแบบในเชิงรูปธรรมและคุณภาพ
                                4) การสรุปผลและจัดทำข้อเสนอแนะ
             4.1.2 ขั้นตอนการศึกษาโครงการ
                           1) เก็บรวบรวมข้อมูลในเชิงวิชาการ ความต้องการของโครงการ สภาพแวดล้อมภายใน และ ภายนอกโครงการ ผลกระทบในกรณีอื่นๆ
                           2) จัดทำรายงาน แสดงผลสรุป เพื่อเป็นแนวทางพัฒนาไปสู่กระบวนการกำหนดการใช้พื้นที่และรูปแบบ
                                3) เสนอวิธีการ เครื่องมือและแผนการทำงาน เพื่อเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ
                                4) จัดทำรายงาน การศึกษาฉบับสมบูรณ์ ตลอดจนข้อเสนอแนะพร้อมทางเลือกที่เหมาะสม
                       5) จัดทำแผนการดำเนินการ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงคของโครงการ
4.2 งานออกแบบ หมายถึง การกำหนดรายละเอียดโครงการ การกำหนดความสัมพันธ์ การใช้พื้นที่ กำหนดแนวความคิดในการออกแบบ รูปทรง ขนาด สัดส่วน การใช้สี และองค์ประกอบ ของงานสถาปัตยกรรม รวมถึงงานต่างๆ ได้แก่
                - การจัดทำแบบและเอกสารประกอบแบบ
                - รายการวัสดุอุปกรณ์ และตัวอย่างเท่าที่จำเป็น
                - การจัดทำเอกสารสำหรับการขออนุญาต
                - การจัดทำงบประมาณ
                - การตรวจสอบรูปแบบระหว่างการตกแต่งภายในอาคาร
                - การให้คำปรึกษา แก้ปัญหาข้อขัดแย้ง
                -การตรวจรับงาน
                 ซึ่งสถาปนิกสามารถให้บริการตามขอบเขตของงานออกแบบ รวมถึงการจัดหาผู้ให้บริการในสาขา วิชาชีพอื่นๆ มาร่วมโครงการได้เช่น
                - การรื้อถอน เคลื่อนย้าย
                - การปรับปรุง ดัดแปลงพื้นที่อาคารเดิม
                - การบูรณะ ซ่อมแซม อนุรักษ์
                - การออกแบบงานระบบภายในอาคาร
                - การออกแบบสัญลักษณ์ เครื่องหมายและป้าย
                - การออกแบบเพื่อการประหยัดพลังงาน
                - การออกแบบเพื่อรักษาความปลอดภัย
                - การจัดทำแผนภูมิ แบบ ทัศนียภาพ หุ่นจำลอง
                - การให้คำปรึกษาในรายละเอียดของโครงการ
                - การวางแผนการขายและการลงทุน

4.2.1 ขอบเขตงานออกแบบ
             1) กำหนดรูปแบบ จากการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์รายละเอียดโครงการ ให้สอดคล้องกับพื้นที่ใช้สอย สภาพแวดล้อมภายในอาคารงบประมาณและกฏหมาย ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
             2) จัดทำแบบเอกสารประกอบแบบ เอกสารประกอบการขออนุญาต เอกสารการประกวดราคา งบประมาณงานตกแต่งภายในอาคาร
             3) ให้คำปรึกษา ตรวจสอบ แก้ปัญหาข้อขัดแย้ง ระหว่างการตกแต่งภายในอาคาร ตลอดจนเป็นผู้ประสานงานกับสาขาวิชาชีพอื่นๆ ที่มาร่วมโครงการ
                4) การตรวจรับงาน เพื่อให้ได้รูปแบบผลงานตามที่กำหนดไว้ ในช่วงของการออกแบบ
4.2.2 ขั้นตอนของงานออกแบบ
                1) งานบริการช่วงก่อนการออกแบบ
                    งานบริการช่วงก่อนการออกแบบ มีหลากหลายแตกต่างกันในรายละเอียด โดยขึ้นอยู่กับประเภทของงานและเจ้าของงาน ช่วงนี้เป็นกระบวนการเพื่อสร้างความเชื่อใจและความเข้าใจร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่ขบวนการออกแบบซึ่งมีรายละเอียดประกอบด้วย
                - ข้อมูลจากเจ้าของโครงการ :
                   วัตถุประสงค์ ความต้องการพื้นที่ใช้สอย เงื่อนไข เวลาและงบประมาณ
                - ข้อมูลจากสภาพแวดล้อมภายในโครงการ
                  ขนาดพื้นที่ การใช้วัสดุอุปกรณ์ ระบบต่างๆ ภายในอาคาร กฏหมายที่เกี่ยวข้องความสัมพันธ์ภายในอาคาร
                - ข้อมูลจากสถาปนิกและสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง
                  การกำหนดรูปแบบ การปรับปรุงดัดแปลง การเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์ การให้คำปรึกษาในรายละเอียดของโครงการ
                โดยสถาปนิกเป็นผู้เก็บรวบรวมข้อมูลข้างต้นไว้เพื่อใช้ในการออกแบบ
                2) งานบริการช่วงออกแบบ
                    2.1 การออกแบบเบื้องต้น
                เป็นขั้นตอนแรกของช่วงการออกแบบ เพื่อหาข้อสรุปถึงความสัมพันธ์ของพื้นที่ภายในอาคาร โดยนำข้อสรุปจากข้อมูลช่วงก่อนการออกแบบมาเป็นแนวทางแสดงให้เห็นการใช้พื้นที่ภายในอาคาร ลักาณะขนาดสัดส่วน รูปแบบทางทัศนียภาพ ตัวอย่างวัสดุและอุปกรณ์เท่าที่จำเป็นรวมไปถึงงบประมาณ และระยะเวลาตกแต่งภายในอาคารจนได้ข้อสรุป
                เอกสารการออกแบบเบื้องต้นควรประกอบด้วย
                -  แบบร่างการใช้พื้นที่ภายในอาคาร รวมถึงเส้นทางสัญจรต่างๆ
                - แบบร่างของงานระบบภายในอาคาร
                - แบบร่างรูปด้าน รูปตัด ทัศนียภาพ ตามความเหมาะสม
                - ตัวอย่าง วัสดุ อุปกรณ์  เท่าที่จำเป็น
                - เอกสารที่จำเป็นอื่นๆ เพื่อประกอบการพิจารณา
                - การประมาณราคาค่าตกแต่งภายในอาคาร
                2.2 การออกแบบจริง
                เป็นการพัฒนางานออกแบบตกแต่งภายใน งานระบบและงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งได้มีการปรับเปลี่ยนงานออกแบบให้สอดคล้องกับข้อมูล จนได้ข้อสรุปเป็นแบบสุดท้ายเพื่อนำเสนอต่อเจ้าของโครงการ
                เอกสารการออกแบบจริงควรประกอบด้วย
                - แบบการใช้พื้นที่ภายในอาคาร ตำแหน่งเฟอร์นิเจอร์และองค์ประกอบอื่นๆ
                - แบบการใช้พื้นที่ภายในอาคาร กำหนดวัสดุและอุปกรณ์
                - แบบงานระบบภายในอาคารอย่างละเอียด
                - แบบการปรับปรุง ดัดแปลง การใช้พื้นที่ภายในอาคาร
              - การกำหนดรายละเอียดตั้งแต่ รูปด้าน รูปตัด แบบขยาย กำหนดการใช้วัสดุ วิธีการจัดทำ และเอกสารประกอบเท่าที่จำเป็น
                กรณีของงานที่ไม่มีความซับซ้อนมาก ขั้นตอนการออกแบบจริงอาจขึ้นอยู่กับการออกแบบเบื้องต้น
                2.3  การจัดทำเอกสารสำหรับการขออนุญาต
                เป็นกระบวนการจัดทำแบบตกแต่งภายในอาคารสำหรับโครงการที่มีชนิด และขนาด ภายใต้ข้อกำหนดของกฏหมายสำหรับเจ้าของโครงการเพื่อยื่นขออนุญาตตกแต่งภายในอาคาร ก่อนดำเนินการ โดยมีรายละเอียดตามที่กฏหมายกำหนด
                3) การบริการคัดเลือกผู้ตกแต่งภายในอาคาร
                เป็นการให้คำปรึกษาด้านเอกสาร ข้อมูลและรายละเอียดที่จำเป็นแก่เจ้าของโครงการเพื่อนำไป       คัดเลือกผู้ตกแต่งภายในอาคารที่เหมาะสม
                4) การบริการช่วงการตกแต่งภายในอาคาร
                เป็นการตรวจสอบการตกแต่งภายในอาคาร ให้ดำเนินไปโดยราบรื่น ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในแบบและรายการประกอบแบบ
                1) การตรวจสอบสถานที่ตกแต่งภายใน เป็นครั้งคราว เพื่อตรวจดูความก้าวหน้าของงาน
                2) การให้ข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมที่สืบเนื่องจากข้อมูลในแบบและรายการประกอบแบบ
                3) การแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้ง อันเกิดขึ้นระหว่างการดำเนินการ
             4) การอนุมัติให้ใช้วัสดุและอุปกรณ์ตามที่ระบุในแบบหรือที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินการ
             5) การตรวจรับงานในแต่ละช่วงตามสัญญาเพื่อให้เจ้าของโครงการทราบถึงปริมาณงานและคุณภาพของงาน
4.3  งานบริหารโครงการและอำนวยการ หมายถึง การดำเนินการโครงการและการบริหารองค์การซึ่งอาจมีขอบเขตงานกว้างขวางและหลากหลาย ตั้งแต่ การวางแผนงานและควบคุมแผนการจัดองค์กร การกำหนดหน้าที่ของบุคลากร การอำนวยการและควบคุมงาน การประสานงานกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยครอบคลุมถึงงานดัดแปลง ปรับปรุง ซ่อมแซม รื้อถอนหรือเคลื่อนย้าย
                                งานบริหารโครงการ และอำนวยการ แยกเป็น
                        -                     การจัดองค์กร การกำหนดหน้าที่บุคลากร
                        -      การวางแผนและควบคุมแผนงาน
                        -      การตรวจสอบงานให้เป็นไปตามแบบและรายการประกอบแบบ
                        -      การบริหารและควบคุมงาน
                        -      การควบคุมคุณภาพของงาน
                        -      การประสานงานกับผู้ที่เกี่ยวข้อง
                        -      การกำหนดและควบคุมงบประมาณ
                        -      การตรวจรับงานและส่งมอบเจ้าของโครงการ
                        -      การวิเคราะห์ ติดตาม ประเมินผลโครงการ
                        4.3.1 ขอบเขตของงานบริหาร โครงการและอำนวยการ
                                งานบริหารโครงการมีขอบเขตที่กว้างขวาง เริ่มจากการศึกษาหาข้อมูล วิเคราะห์ในรายละเอียด กำหนดงบประมาณของโครงการระยะเวลาดำเนินการ หลังผ่านขั้นตอนการออกแบบต้องดำเนินการขออนุญาตจากทางราชการและผู้ที่เกี่ยวข้อง จัดหาผู้รับจ้าง ศึกษาตรวจสอบสัญญาจ้าง ช่วงระหว่างการดำเนินการตกแต่งภายในอาคาร ต้องเข้าอำนวยการตั้งแต่เริ่มต้นจนโครงการแล้วเสร็จ และอาจรวมไปถึงการบริหารช่วงหลังการตกแต่งภายในอาคาร เช่น การบำรุงรักษาพื้นที่ภายในอาคาร การซ่อมบำรุง
                        4.3.2 ขั้นตอนของงานบริหารโครงการและอำนวยการ
                                งานบริหารโครงการและอำนวยการ สามารถแบ่งเป็นช่วงๆ ดังนี้
                                1) ช่วงออกแบบ         นำข้อมูล ผลวิเคราะห์ จากการศึกษาโครงการ มาใช้เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการให้คำปรึกษา ตรวจสอบ  เอกสาร ผลงานออกแบบ ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ สามารถนำไปดำเนินการตามแผนงานและงบประมาณที่วางไว้
                                2) ช่วงก่อนการตกแต่งภายในอาคาร  จัดเตรียมเอกสาร เพื่อขออนุญาตตามที่กฏหมายกำหนด      จัดเตรียมแบบและเอกสาร เพื่อจัดหาผู้รับจ้างเตรียมเอกสาร   สัญญาจ้าง จัดเตรียมส่งมอบพื้นที่
                                3) ช่วงการตกแต่งภายในอาคาร เป็นการเน้นในการควบคุมแผนงาน วางแผน ตรวจสอบและ ควบคุมงานให้เป็นไปตามแบบและรายการประกอบแบบ ควบคุมคุณภาพของงาน ประสานงานกับผู้เกี่ยวข้อง ให้ คำแนะนำในกรณีที่มีปัญหาหรือข้อขัดแย้งต่างๆ ตรวจสอบ  ปริมาณงานในแต่ละงวดงาน
                                4) ช่วงหลังการตกแต่งภายในอาคาร จัดให้มีการตรวจรับงาน ตรวจสอบอุปกรณ์และระบบต่างๆ  รวบรวมแบบที่ใช้ตกแต่งภายในอาคารจริง และเอกสารต่างๆ    เช่น หนังสือ รับรอง หนังสือค้ำประกัน คู่มือการใช้และการ        บำรุงรักษาตลอดจนหนังสือรับประกันผลงาน
 4.4 งานตรวจสอบ หมายถึง การสำรวจ การทดสอบ รวมทั้งการหาข้อมูล เพื่อเป็นหลักเกณฑ์ประกอบการตรวจสอบรูปแบบ อุปกรณ์ประกอบภายในอาคาร ระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึง การบริหารจัดการ เพื่อความสะดวกปลอดภัยในอาคาร ในด้านสถาปัตยควบคุม และการออก          เอกสารรับรองผลการตรวจสอบ
        4.4.1 การตรวจสอบระหว่างดำเนินการ
                    การตรวจสอบระหว่างดำเนินการ เพื่อการดำเนินการเป็นไปอย่างถูกต้องตามรูปแบบการใช้   วัสดุ และความสัมพันธ์กับงานด้านอื่นๆ โดยเฉพาะงานระบบ เพื่อง่ายต่อการประเมินผลและงานบำรุงรักษา
      4.4.2  การตรวจสอบหลังจากดำเนินการแล้วเสร็จ
                   การตรวจสอบหลังจากดำเนินการแล้วเสร็จ   จะใช้ตรวจสอบความเรีบยร้อย สะดวกปลอดภัย ง่ายต่อการบำรุงรักษา ซึ่งในขั้นตอนนี้สามารถออกเอกสารรับรองผลการตรวจสอบได้
4.5 งานให้คำปรึกษา หมายถึง การให้ข้อเสนอแนะหรือการตรวจสอบ เพื่อให้คำปรึกษา ในงานตาม (1) (2) (3) หรือ (4)
4.6 งานบริการเสริม หมายถึง งานบริการที่นอกเหนือจากงานศึกษาโครงการ งานออกแบบงานบริหารโครงการและอำนวยการ งานให้คำปรึกษา ซึ่งสถาปนิกสามารถให้บริการได้แต่ต้องไม่ขัดต่อระเบียบปฏิบัติและข้อกำหนดของกฏหมาย เช่น
                   - การดำเนินการขออนุญาตต่อหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง
                   - งานเจรจาต่อรอง (เช่น ราคา, การขยายเวลา)
                   - การตรวจรับงาน
                   - การเป็นพยานในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางสถาปัตยกรรมตกแต่งภายในและมัณฑนศิลป์
                   - การเป็นอนุญาโตตุลาการ
                   - การออกแบบงานนิทรรศการ
                   - ฯลฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น